วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย

การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย

ภายหลังการปฏิรูปการปกครองและการปฏิรูปการศึกษาในรัชกาลที่ 5 พระองค์ได้มีกระแสความคิดที่จะให้ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบการปกครองที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ โดยมีรัฐสภาเป็นสถาบันหลักที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองมากขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งได้มีคณะนายทหารชุดกบฏ ร.ศ.130 ซึ่งมีความคิดที่ปฏิบัติการให้บรรลุความมุ่งหมายดังกล่าว แต่ไม่ทันลงมือกระทำการก็ถูกจับได้เสียก่อนเมื่อ พ.ศ.2454 ในต้นรัชกาลที่ 6
อย่างไรก็ตาม เสียงเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ยังคงมีออกมาเป็นระยะๆ ทางหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ยังไม่ผลต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆ มากนัก นอกจากการปรับตัวของรัฐบาลทางด้านการเมืองการปกครองให้ทันสมัยยิ่งขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น แต่ก็ยังไม่ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศแต่ประการใด จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้มีคณะผู้ก่อการภายใต้การนำของ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งได้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นผลสำเร็จใน พ.ศ. 2475
ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทย

สภาพการณ์โดยทั่วไปของบ้านเมืองก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
1.สภาพการณ์ทางสังคม
สังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ความทันสมัยตามแบบตะวันตกในทุกๆ ด้าน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปฏิรูปแผ่นดินเข้าสู่ความทันสมัยในรัชกาลที่ 5 (พ.ศ.2411-2453) ความจริงแล้วสังคมไทยเริ่มปรับตัวให้เข้ากับกระแสวัฒนธรรมตะวันตกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ภายหลังได้ทำสนธิสัญญาบาวริงกับอังกฤษใน พ.ศ.2398 และกับประเทศอื่นๆในภาคพื้นยุโรปอีกหลายประเทศ และทรงเปิดรับรับประเพณีและวัฒนธรรมของตะวันตก เช่น การจ้างชาวตะวันตกให้เป็นครูสอนภาษาอังกฤษแก่พระราชโอรสและพระราชธิดาในพระบรมมหาราชวัง การให้ข้าราชการสวมเสื้อเข้าเฝ้า การอนุญาตให้ชาวต่างประเทศเข้าเฝ้าพร้อมกับขุนนางข้าราชการไทยในงานพระบรมราชาภิเษก เป็นต้น
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงดำเนินพระบรมราโชบายปลดปล่อยไพร่ให้เป็นอิสระและทรงประกาศเลิกทาสให้เป็นไทแก่ตนเอง พร้อมกันนั้นยังทรงปฏิรูปการศึกษาตามแบบตะวันตก เพื่อให้คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาถึงขั้นอ่านออกเขียนได้และคิดเลขเป็น ไม่ว่าจะเป็นเจ้านาย บุตรหลานขุนนาง หรือราษฎรสามัญชนที่พ้นจากความเป็นไพร่หรือทาส ถ้าบุคคลใดมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดก็จะมีโอกาสเดินทางไปศึกษาต่อยังประเทศตะวันตกโดยพระบรมราชานุเคราะห์จากผลการปฏิรูปการศึกษา ทำให้คนไทยบางกลุ่มที่ได้รับการศึกษาตามแบบตะวันตก เริ่มรับ เริ่มรับเอากระแสความคิดเกี่ยวกับการเมืองสมัยใหม่ ที่ยึดถือรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศมาจากตะวันตก และมีความปรารถนาที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงการปกคราองเกิดขึ้นในประเทศไทย ดังจะเห็นได้จากคำกราบบังคมทูลถวายถึงความคิดเห็นในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะเจ้านายและข้าราชการใน พ.ศ.2427 (ร.ศ.103) หรือการเรียกร้องให้มีการปกครองในระบบรัฐสภาของ “เทียนวรรณ” (ต.ว.ส. วัณณาโภ) ในหน้าหนังสือพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้น และกระแสความคิดนี้ก็ดำเนินสืบเนื่องมาโดยตลอดในหมู่ผู้นำสมัยใหม่ที่ได้รับการศึกษาจากประเทศตะวันตก และจากผู้ที่ได้รับการศึกษาตามแบบตะวันตก
อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้นำสมัยใหม่บางส่วนที่ได้รับผลประโยชน์จากระบบราชการสมัยใหม่ที่ตนเองเข้าไปมีหน้าที่รับผิดชอบอยู่ ก็ถูกระบบราชการดูดกลืนจนปฏิเสธที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสมัยใหม่ในระยะเวลาอันใกล้ เพราะมีความเห็นว่าประชาชนชาวไทยยังขาดความพร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลง
สมัยรัชกาลที่ 5 ทรงปฏิรูปประเทศเข้าสู่ความทันสมัย สังคมไทยก็เริ่มก้าวเข้าสู่ความมีเสรีในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น โดยเริ่มเปิดโอกาสสื่อมวลชนเสนอความคิดเห็นต่อสาธารณชนได้ค่อนข้างเสรี ดังนั้นจึงปรากฏว่าสื่อมวลชนต่างๆ เช่น น.ส.พ.สยามประเภท, ตุลวิภาคพจนกิจ, ศิริพจนภาค, จีนโนสยามวารศัพท์ ซึ่งตีพิมพ์จำหน่ายในรัชกาลที่ 5 น.ส.พ. บางกอกการเมือง ซึ่งพิมพ์จำหน่ายในสมัยรัชกาลที่ 6 และ น.ส.พ.สยามรีวิว ซึ่งพิมพ์จำหน่ายในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้เรียกร้องและชี้นำให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไปสู่ระบบรัฐสภา โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักในการปกครองประเทศอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการปลดปล่อยไพร่และทาสให้เป็นอิสระในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ผ่านพ้นไปได้เพียง 20 ปีเศษ ดังนั้นสภาพสังคมส่วนใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 7 ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงยังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของวัฒนธรรมในระบบเจ้าขุนมูลนาย นอกจากนี้คนส่วนน้อยยังคงมีฐานะ สิทธิ ผลประโยชน์ต่างๆ เหนือคนไทยส่วนใหญ่ คนส่วนใหญ่มักมีความเห็นคล้อยตามความคิดที่ส่วนน้อยซึ่งเป็นชนชั้นนำของสังคมไทยชี้นำ ถ้าจะมีความขัดแย้งในสังคมก็มักจะเป็นความขัดแย้งในทางความคิด และความขัดแย้งในเชิงผลประโยชน์ในหมู่ชนชั้นนำของสังคมที่ได้รับการศึกษาจากประเทศตะวันตก มากกว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นผู้นำของสังคมไทยกับราษฎรทั่วไป

2.สภาพการณ์ทางเศรษฐกิจ
ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เริ่มมีการส่งข้าวออกไปขายยังต่างประเทศมากขึ้น เพราะระบบการค้าที่เปลี่ยนแปลงไปและความต้องการของตลาดโลก ชาวนาจึงหันมาปลูกข้าวเพื่อส่งออกมาขึ้น ทำให้มีการปลูกพืชอื่นๆ น้อยลง ผลผลิตที่เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนก็ลดลงด้วยบางที่ก็เลิกผลิตไปเลย เพราะแรงงานส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในการผลิตข้าวแทน
สมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงเห็นว่าถึงแม้รายได้ของแผ่นดินจะเพิ่มพูนมากขึ้นอันเป็นผลมาจากระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนไป แต่การที่ระบบการคลังของแผ่นดินยังไม่รัดกุมพอ ทำให้เกิดการรั่วไหลได้ง่าย จังทรงจัดการปฏิรูปการคลังโดยจัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ขึ้น เพื่อการปรับปรุงและการจัดระบบภาษีให้ทันสมัยใน พ.ศ.2416 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติงบประมาณ พ.ศ.2434 เริ่มโครงการปฏิรูปเงินตราใหม่ พ.ศ.2442 จัดการส่งเสริมการเกษตรและการผลิตเพื่อการส่งออกให้มากขึ้น ปรับปรุงการคมนาคมให้ทันสมัยโดยการสร้างทางรถไฟ ตัดถนนสายต่างๆ ขุดคลอง เพื่อให้เกิดความสะดวกในการคมนาคม การขนส่งสินค้าและผลผลิต ซึ่งผลการปฏิรูปเศรษฐกิจในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้รายได้ของประเทศเพิ่มมากขึ้น 15 ล้านบาทใน พ.ศ.2435 เป็น 46 ล้านบาทใน พ.ศ.2447 โดยไม่ได้เพิ่มอัตราภาษีและชนิดของภาษีขึ้นอย่างใด ทำให้เงินกองคลังของประเทศ ซึ่งเคยมีอยู่ประมาณ 7,500,000 บาท ใน พ.ศ.2437 เพิ่มเป็น 32,000,000 บาทใน พ.ศ.2444
สมัยรัชกาลที่ 6 (พ.ศ.2453-2468) ได้มีการส่งเสริมธุรกิจด้านอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ กิจการไฟฟ้า มีการจัดตั้งบริษัทพาณิชย์นาวีสยาม ส่งเสริมด้านชลประทานและการบำรุงพันธุ์ข้าว จัดตั้งธนาคารออมสิน สร้างทางรถไฟเพิ่มเติมจากเดิม ทั้งนี้เพื่อหวังผลทางเศรษฐกิจที่เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น แต่เนื่องจากได้อุทกภัยใน พ.ศ.2460 และเกิดฝนแล้งใน พ.ศ. 2462 ทำให้การผลิตข้าวอันเป็นที่มาของรายได้หลักของประเทศประสบความเสียหายอย่างหนัก ส่งผลกระทบต่อภาวะการคลังของประเทศอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง ทำให้งบประมาณรายจ่ายสูงกว่ารายรับมาโดยตลอดระหว่าง พ.ศ.2465-2468
สมัยรัชกาลที่ 7 (พ.ศ. 2468-2475) พระองค์ได้ทรงแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างเต็มพระสติกำลังความสามารถ โดยทรงเสียสละด้วยการตัดทอนรายจ่ายในราชสำนัก เพื่อเป็นตัวอย่างแก่หน่วยราชการต่างๆ โดยโปรดให้ลดเงินงบประมาณรายจ่ายส่วนพระองค์ จากเดิมปีละ 9 ล้านบาท เหลือปีละ 6 ล้านปี พ.ศ.2469 และมีการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีศุลกากรใหม่หลายอย่าง ทำให้งบประมาณรายรับรายจ่ายเกิดความสมดุล พ.ศ.2472-2474 เศรษฐกิจโลกเริ่มตกต่ำอันเป็นผลเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงส่งผลกระทบต่อประเทศโดยตรง ทำให้งบประมาณรายจ่ายสูงกว่ารายรับเป็นจำนวนมาก รัชกาลที่ 7 ได้ทรงดำเนินนโยบายตัดทอนรายจ่ายอย่างเข้มงวดที่สุด รวมทั้งปลดข้าราชการออกจากตำแหน่งเป็นจำนวนมากเพื่อการประหยัด ตลอดจนจัดการยุบมณฑลต่างๆทั่วประเทศ งดจ่ายเบี้ยเลี้ยงและเบี้ยกันดารแก่ข้าราชการ ประกาศให้เงินตราของไทยออกจากมาตรฐานทองคำ และกำหนดค่าเงินตราตามเงินปอนด์สเตอร์ลิง รวมทั้งการประกาศเพิ่มภาษีราษฎรโดยเฉพาะข้าราชการซึ่งจะต้องเสียภาษีที่เรียกว่า ภาษเงินเดือน แต่ถึงแม้ว่าจะทรงดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจด้วยการประหยัดและตัดทอนรายจ่ายต่างๆ รวมทั้งการเพิ่มภาษีบางอย่างแล้ว แต่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจก็ยังไม่ไดเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

3.สภาพการณ์ทางการเมือง
สภาพการณ์ทางการเมืองและการปกครองของไทยกำลังอยู่ในระยะปรับตัวเข้าสู่แบบแผนการปกครองของตะวันตก เห็นได้จากพระบรมราโชบายของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ภายหลังที่ไทยได้มีการติดต่อกับประเทศตะวันตกอย่างกว้างขวาง นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4-7สมัยรัชกาลที่ 4 ยังไม่ได้ทรงดำเนินนโยบายปรับปรุงการปกครองให้เป็นแบบตะวันตก แต่ก็ทรงมีแนวพระราชดำริโน้มเอียงไปในทางเสรีนิยม เช่น ประกาศให้เจ้านายและข้าราชการเลือกตั้งตำแหน่งมหาราชครูปุโรหิตและตำแหน่งพระมหาราชครูมหิธร อันเป็นตำแหน่งตุลาการที่ว่างลง แทนที่จะทรงแต่งตั้งผู้พิพากษาตามพระราชอำนาจของพระองค์ และเปลี่ยนแปลงวิธีถวายน้ำพิพัฒน์สัตยา ด้วยการที่พระองค์ทรงเสวยน้ำพิพัฒน์สัตยาร่วมกับขุนนางข้าราชการและทรงปฏิญาณความซื่อสัตย์ของพระองค์ต่อขุนนางข้าราชการทั้งปวงด้วย
สมัยรัชกาลที่ 5 ทรงปฏิรูปการเมืองการปกครองครั้งใหญ่ เพื่อให้การปกครองของไทยได้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับชาติตะวันตก โดยจัดตั้ง สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State) และสภาที่ปรึกษาส่วนพระองค์ (Privy Council) ใน พ.ศ.2417 เพื่อถวายคำปรึกษาเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินและในเรื่องต่างๆ ที่พระองค์ของคำปรึกษาไป นอกจากนี้พระองค์ยังทรงปฏิรูปการปกครองที่สำคัญคือ การจัดตั้งกระทรวงแบบใหม่จำนวน 12 กระทรวงขึ้นแทนจตุสดมภ์ในส่วนกลางและจัดระบบการปกครองหัวเมืองต่างๆในรูปมณฑลเทศาภิบาลในภูมิภาค โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2435 เป็นต้นมา นอกจากนี้พระองค์ทรงริเริ่มทดลองการจัดการปกครองท้องถิ่นในรูป สุขาภิบาล จัดตั้ง รัฐมนตรีสภา เพื่อทำหน้าที่ตามกฎหมาย ใน พ.ศ.2437 ตามแบบอย่างตะวันตก
สมัยรัชกาลที่ 6 ทรงริเริ่มทดลองการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยการจัดตั้ง ดุสิตธานี เมืองประชาธิปไตยขึ้นในบริเวณพระราชวังดุสิต พ.ศ.2461 เพื่อทดลองฝึกฝนให้บรรดาข้าราชการได้ทดลองปกครองตนเองในนครดุสิตธานี เหมือนกับการจดรูปแบบการปกครองท้องถิ่นที่เรียกว่า “เทศบาล” นอกจากนี้ยังทรงจัดตั้งกระทรวงขึ้นมาใหม่จากที่มีอยู่เดิม และยุบเลิกกระทรวงบางกระทรวงเพื่อให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยทรงจัดตั้งมณฑลเพิ่มขึ้นและทรงปรับปรุงการบริหารงานของมณฑลด้วยการยุบรวมมณฑลเป็นหน่วยราชการที่เกี่ยวกับการปกครองเรียกว่า มณฑลภาค เพื่อให้การปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลมีความคล่องตัวมากขึ้น
สมัยรัชกาลที่ 7 (พ.ศ.2468-2475) ทรงเล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงการปกครองให้ทันสมัย และต้องเตรียมการให้พร้อมเพิ่มมิให้เกิดความผิพลาดได้ โดยพระองค์ได้ทรงจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภา เพื่อเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน พ.ศ.2468 และทรงมอบหมายให้อภิรัฐมนตรีสภาวางระเบียบสำหรับจัดตั้งสภากรรมการองคนตรี เพื่อเป็นสภาที่ปรึกษาส่วนพระองค์อีกด้วย
นอกจากนี้ทรงมอบหมายให้อภิรัฐมนตรีวางรูปแบบการปกครองท้องถิ่นในรูปเทศบาล ด้วยการแก้ไขปรับปรุงสุขาภิบาลที่มีอยู่ให้เป็นเทศบาล แต่ไม่มีโอกาสได้ประกาศใช้ เพราะได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นก่อน นอกจากนี้ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีวิศาลวาจาและนายเรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศช่วยกันร่างรัฐธรรมนูญ ตามกระแสพระราชดำริใน พ.ศ.2474 มีสาระสำคัญดังนี้
อำนาจนิติบัญญัติจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทางอ้อม โดยมีสมาชิก 2 ประเภท คือ มาจากการเลือกตั้งและการแต่งตั้ง ส่วนผู้ที่มีสิทธิ์สมัครเลือกตั้งจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า30 ปี มีพื้นฐานความรู้อ่านออกเขียนได้ ส่วนอำนาจบริหารให้พระมหากษัตริย์ทรงเลือกนายกรัฐมนตรี แต่เนื่องจากอภิรัฐมนตรีมีความเห็นประชาชนยังไม่พร้อม ดังนั้นการประกาศใช้รัฐธรรมนูญควรระงับไว้ชั่วคราว จนกระทั่งได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียก่อนจึงมิได้มีการประกาศใช้แต่อย่างใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น